วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

วันตรุษจีน

วันตรุษจีน เทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่
วันตรุษจีน เทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่
วันตรุษจีน ปีใหม่จีน ประวัติวันตรุษจีน ประเพณีนิยมใน วันตรุษจีน ประเพณีนิยมของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนทั่วโลกถือว่า วันตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน Chinese New Year
Chinese New Year

วันตรุษจีน  คือวันขึ้นปีใหม่ของจีน Chinese New Year  (วันที่ 1 เดือน 1 ของวันจีน) วันตรุษจีนในปฏิทินสุริยคติ
ปี                           วันที่                                                  วันที่                                                      วันที่
ปีชวด        19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539               7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551                 25 มกราคม พ.ศ. 2563
ปีฉลู            7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540             26 มกราคม พ.ศ. 2552                   12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ปีขาล         28 มกราคม พ.ศ. 2541               14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553                   1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ปีเถาะ        16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542               3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554                22 มกราคม พ.ศ. 2566
ปีมะโรง       5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543              23 มกราคม พ.ศ. 2555                  10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
ปีมะเส็ง     24 มกราคม พ.ศ. 2544                10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556                29 มกราคม พ.ศ. 2568
ปีมะเมีย     12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545             31 มกราคม พ.ศ. 2557                  17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2569
ปีมะแม        1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546             19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558                   6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2570
ปีวอก        22 มกราคม พ.ศ. 2547                  8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559                 26 มกราคม พ.ศ. 2571
ปีระกา         9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548             28 มกราคม พ.ศ. 2560                   13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2572
ปีจอ          29 มกราคม พ.ศ. 2549                16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561                   3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2573
ปีกุน          18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550               5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562                 23 มกราคม พ.ศ. 2574
วันตรุษจีน ปี 2555 ในปีนี้นั้นตรงกับ วันขอเงินจากพระจันทร์ ซึ่งมีหลายท่านที่ได้ขอพรจากพระจันทร์ หลายปีติอต่อกันมาและสมปารถนากันมาแล้ว วันขอเงินพระจันทร์ 2555 นับว่าดีทีเดียวเพราะว่าวันแรกในปีนี้ตรงกับวันตรุษจีน

ประวัติวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่

          ประวัติของวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความปรารถนาสิ่งที่เราหวังว่าจะได้ปรับปรุง หรือที่เราคิดทำเมื่อเริ่มต้นในเทศกาลวันปีใหม่ มาถึงตอนนี้ ถ้าไม่ถูกลืมก็ถูกยัดลงกล่องใส่ตู้ปิดตายและแปะหน้าตู้ว่าไม่แน่ เอาไว้ทำปีหน้าแล้วกันอย่างไรก็ดี ความหวังก็คงยังไม่สูญไปทั้งหมดเพราะโอกาสที่สองกำลังมาถึงแล้วกับการฉลอง วันปีใหม่จีน หรือที่เรารู้จักกันว่า ตรุษจีน
          ตรุษจีน นั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี และพิธีกรรมความเป็นมาของการฉลอง ตรุษจีน นั้นมีมานานกว่าศตวรรษ จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูก ทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูก ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืนเป็นต้น
          วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอยจะว่าไปถือวันที่น่าตื่นเต้น มากที่สุด ในบรรดาการฉลองทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้าย ให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
          เมื่อถึง วันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว ต่าง ออกมาเพื่อคำอวยพรวันปีใหม่กล่าวสวัสดีปีใหม่ เริ่มจากญาติๆ แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่คำอวยพรวันปีใหม่จะพูดว่า "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ" ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป) ใน วันตรุษ นี้อารมณ์โมโหโกรธาจะถูกลืม และไม่สนใจ การฉลอง วันตรุษจีน สิ้นสุดลงในงานโคมไฟ ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ ถึงแม้ว่าการฉลอง วันตรุษจีน จะมีแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน
ตำนานความเป็นมาของวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกันเมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดังและไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
 เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน

วันตรุษจีน
อาหารไหว้เจ้า ของไหว้ตรุษจีน
     ในวันฉลองตรุษจีนอาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันไหนๆในปี อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่างๆที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆมีความหมายที่เป็นมงคลในตัวของมัน

ความหมายของ ของไหว้วันตรุษจีน
เม็ดบัว - มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย
เกาลัด - มีความหมายถึง เงิน
ถั่วตัด  - หมายถึง แท่งเงิน
สาหร่ายดำ - คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย
เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง - คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข
หน่อไม้ - คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข
เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่ง เป็นสีแห่งโชคร้าย สำหรับปีใหม่และหมายถึงการไว้ทุกข์
ของไหว้ตรุษจีน ขนมไหว้วันตรุษจีน
    1.ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
    2.ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
    3.ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
    4.ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
    5.ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
    6.ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่าห่อโชค
    7.จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป
         
อาหารอื่นๆ รวมไปถึงปลาทั้งตัว เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดม- สมบรูณ์ และไก่สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เส้นหมี่ก็ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว
ทางตอนใต้ของจีน จานที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุดได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ ทางเหนือ หมั่นโถ และติ่มซำ เป็นอาหารที่นิยม อาหารจำนวน มากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน
ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้
"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้"
ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่

     วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู๋เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว

     วันไหว้ คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ
ตอนเช้ามืดจะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ ได้แก่ หมูสามชั้นต้ม ไก่ เป็ด ปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นได้ หรือมากกว่านั้นได้จนเป็นเนื้อสัตว์ห้าชนิด) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ
เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย วิธีไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ แนะนำวิธีไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ที่ถูกต้องเคล็ดลับพิธีกรรมเรื่องราวความเป็นมา ในโอกาสใกล้จะถึงวันตรุษจีน >>>ประวัติไฉ่ซิ้งเอี้ย

ตอนสาย จะไหว้ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว

ตอนบ่าย จะไหว้ ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล

     วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) วันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น
วันตรุษจีน
        วันตรุษจีน ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัยและคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา วันตรุษจีน ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
วันตรุษจีน ถ้าหากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่หรือ วันตรุษจีน คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
การแต่งกายและความสะอาดใน วันตรุษจีน เราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วง เทศกาลวันตรุษจีน นี้สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
วันตรุษจีน กับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับ คนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล
บุคคลแรกที่พบใน วันตรุษจีน และคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
การเข้าไปหาใครในห้องนอนใน วันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรใน วันตรุษจีน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคง ยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียมและวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็นครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน วันตรุษจีน 2555
ความเชื่อต่างๆใน วันตรุษจีน ที่ห้ามทำและที่นิยมทำกัน

วันกองทัพไทย


วันกองทัพไทย ทุกวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี
ความสำคัญ
           กองทัพไทย 3 เหล่า อันได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ต่างเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศชาติจากการรุกรานของบรรดาเหล่าราชศัตรูในยามสงคราม และในยามสบงกำลังพลของกองทัพทั้ง 3 เหล่า ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ดังนั้นจึงได้กำหนดให้มีการจัดงานวันกองทัพไทยในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี

ประวัติ
           สาเหตุที่กำหนดให้ วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทยนั้น เนื่องจากเป็นวันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จอมทัพไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อ สมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งพม่า และผลแห่งชัยชนะในครั้งนั้น ทำให้ข้าศึกไม่กล้าเข้ามารุกรานไทยทุกทิศทาง เป็นเวลาถึง 150 ปี

สงครามยุทธหัตถี
           เมื่อกรุงหงสาวดีของพม่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่พระเจ้านันทบุเรงนองขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อมา ทางพม่าได้แจ้งข่าวการเปลี่ยนรัชกาลไปยังประเทศราชทั้งปวง โดยให้ผู้ปกครองประเทศราชไปเฝ้าตามประเพณี ในครั้นสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดปรานให้พระนเรศวรราชโอรสเสด็จขึ้นแต่เมื่อเสด็จถึงเมืองแครง บังเอิญทรงทราบถึงแผนการของพม่าที่คิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากบุคคลสำคัญทางมอญหลายคนที่สนิทสนมคุ้นเคยได้ลอบทูลก่อนที่พระองค์จะเสด็จถึงเมืองพม่า
           ด้วยเหตุนี้ พระนเรศวรจึงทรงถือโอกาสประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง ในปีพ.ศ. 2127 แยกราชอาณาจักรศรีอยุธยาออกเป็นอิสรภาพจากพม่า แล้วจึงยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปจนใกล้จะถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีไปรบพุ่งมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว จวนใกล้จะยกทัพกลับคืนพระนคร พระนเรศวรทรงเห็นว่าการจะตีเมืองหงสาวดีในครั้งนี้คงไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันไปบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนเอาไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ให้อพยพกลับ ได้ครอบครัวกลับมาตุภูมิเดิมถึง 10,000 เศษ ฝ่ายอุปราชาได้ทราบข่าวจึงยกมาเป็นทัพหลวง ยกติดตามพระนเรศศวรมา โดยให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า ครั้นกองหน้ามาถึงแม่น้ำสะโตงเมื่อพระนเรศวรยกข้ามฟากมาได้แล้ว จึงยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมน้ำ พระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว 9 คืบ ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง พวกรี้พลเห็นว่านายทัพตายก็พากันครั่นคร้ามเลิกทัพกลับไป
      
           พระแสงปืนซึ่งพระนเรศวรยิงถูกสุรกรรมาดับชีพในคัร้งนั้นได้มีนามปากกาปรากฎว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดินสืบมาตราบจนถึงกาลปัจจุบันนี้ ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน วันอาทิยต์ ขึ้น 9 ค่ำ พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงได้เสร็จยาตราทัพออกจากกรุงหงสาวดี เพื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยให้พระอุปราชาอยู่รักษาพระนคร พระนเรศวรทรงทราบว่าพม่ายกมาครั้งนี้เป็นทัพกษัตริย์ใหญ่หลวงนัก จึงตรัสให้รวบรวมเสบียงอาหารและไพร่พลฉกรรจ์จากหัวเมืองเข้าพระนคร แม้กองทัพใหญ่ฝ่ายพม่าจะยกเข้าโจมตีพระนครเป็นหลายครั้งก็หาสำเร็จไม่ จึงตั้งล้อมกรุงไว้เป็นเวลา 4 เดือน เห็นว่าไม่มีทางเอาชนะไทยได้ ทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสน และไข้รุม จึงต้องยกทัพกลับ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2130 ในศึกครั้งนั้น พระนเรศวรออกรบอย่างกล้าหาญ และปลอมพระองค์จะเข้าค่ายพระหงสาวดี โดยเสด็จลงจากหลังม้าทรงคาบพระแสงดาบ นำทหารปีนระเนียด (ปีนค่าย) แต่ถูกข้าศึกแทงตกลงมาจึงเข้าไม่ได้ พระแสงดาบซึ่งทรงในวันนั้นจึงปรากฏนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย”
            ครั้นถึงวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สองวีรกษัตริย์ไทย คือ สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถได้เข้าตีกองทัพหน้าของพม่าที่ยกมาครั้งใหม่แตกหนีอลหม่าน ขณะนั้นเองช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรชื่อ เจ้าพระยาไชยานุภาพ กับช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถชื่อ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ซึ่งเป็นช้างตกมันทั้งคู่ ได้ไล่ตามพวกข้าศึกไปอย่างเมามันทำให้กองกำลังทหารไทยตามไม่ทัน สองวีรกษัตริย์ไทยเข้าไปอยู่กลางวงล้อมของเหล่าข้าศึก มีแต่จตุรงคบาทและพวกทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน เมื่อพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชธารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบว่าได้ถลำเข้ามาจนถึงกลางกองทัพของปัจจามิตรแล้ว แต่พระองค์ทรงมีสติมั่นไม่หวั่นไหวจึงไสช้างเข้าไปใกล้แล้วตรัสไปโดยฐานคุ้นเคยกันมาก่อนทั้งในวัยเยาว์และวัยเติบใหญ่ว่า “เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราจะไม่มีอีกแล้ว”
           ด้วยความมีขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาจึงไสช้าง พลายพัธกอ ออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพซึ่งกำลังตกมัน เมื่อเห็นข้าศึกตรงออกมาท้าทายก็โถมแทงทันทีไม่ยับยั้ง เลยพลาดท่าทำให้พลายพัธกอได้ล่างแบกรุนเอาเจ้าพระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทันเลยถูกแต่พระมาลาหนังขาดวิ่นไป พอดีกับเจ้าพระยานุภาพสะบัดหลุดแล้วกลับได้ล่างแบกรุนพลายพัธกอหันเบนไปบ้าง สมเด็จพระนเรศวรจึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่อังสะขวา (ไหล่ขวา) ขาดสะพายลงมา ซบสิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง
  
           ส่วนสมด็จพระเอกาทศรถได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปาโรขาดสะพายแล่งตายคาคอช้างเช่นกัน พวดท้าวพระยาเมืองหงสาวดี เห็นเจ้านายเสียทีต่างก็กรูกันเข้ามาช่วย ใช้ปืนระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัตถ์ถึงบาดเจ็บ พอดีขณะนั้นกองทัพหลวงของไทยตามมาทัน จึงเข้ารบพุ่งแก้เอาจนจอมทัพไทยออกมาได้ ฝ่ายกรุงหงสาวดีก็เลิกทัพกลับไป
           พระแสงของ้าวที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประหารพระมหาอุปราชาครั้งนั้น ได้นามต่อมาว่า “พระแสงแสนพลพ่าย” และพระมาลาที่ถูกฟันก็ปรากฏนามว่า “พระมาลาเบี่ยง” นับเป็นเครื่องมงคลราชูปโภคมาจนบัดนี้ ส่วนช้างศึกที่ชนะก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”
           จากเหตุการณ์การทำสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถวีรกษัตริย์ไทยในครั้งนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2135 จึงถือเอาวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย (ปัจจุบันพบหลักฐานใหม่ว่า น่าจะตรง กับวันที่ 18 มกราคม แต่ยังถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย) 

กิจกรรม

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในวันกองทัพไทย
1. ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ
2. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
3. จัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพไทย

วันครูแห่งชาติ

          ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ

ความสำคัญของครู

          ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี

          ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆคน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง



 

ประวัติความเป็นมา

          วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู

          ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

          พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

          "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

          คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว

          งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ



 


บทสวดเคารพครู

          (สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา

          ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

(สวดทำนองสรภัญญะ)

          (สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์

          โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

          ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน

          ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน

          จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน

          เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม

          ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม

          กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ

          คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร

          ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม

          (กราบ)

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู
 
          เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู คลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ

กิจกรรมวันครู

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

          1. กิจกรรมทางศาสนา

          2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

         
          ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วย บุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ

          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยคุรุสภา คณะกรรมการการจัดงาน วันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 1,000 รูป

          หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีกล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          จากนั้นประธานจัดงาน วันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ ผู้นำร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ

 คำปฏิญาณตนของครู

          ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

          ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

          ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอก และในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม


มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู           1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

          9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
 
รายชื่อประเทศที่มี วันครู

ประเทศที่มี วันครู ที่ไม่ใช่วันหยุด

          - อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
          - มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม
          - ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน

ประเทศที่มี วันครู เป็นวันหยุด

          - แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
          - จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
          - สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
          - ละตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
          - โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
          - รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
          - สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน
          - สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
          - ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
          - ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม
          - สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม
          - เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน
ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู  ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ  ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

วันเด็กแห่งชาติ

         "คนทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ แม้เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก คือศึกษาเล่าเรียน หมายความว่า จะต้องเรียนให้รู้วิชา ฝึกหัดทำการงานต่าง ๆ ให้เป็น อบรมขัดเกลาความประพฤติและความคิดจิตใจให้ประณีต ให้สุจริต แจ่มใส และเฉลียวฉลาดมีเหตุผล เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถและประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง"
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี 2535



สารบัญ

[ซ่อนสารบัญ]

[แก้ไข] ความหมายของเด็ก

ภาพ:ChildrendDay_4.jpg
         ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "เด็ก" ไว้ คือ "เด็ก" หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ยังเล็ก อ่อนวัน เช่น เด็กชาย คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ และ เด็กหญิง คือ คำนำเรียกเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 14 ปี บริบูรณ์

[แก้ไข] ประวัติความเป็นมาของวันเด็กแห่งชาติ

ภาพ:ChildrendDay_3.jpg

          วันเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี เป็นวันหยุดราชการที่มิได้ชดเชยในวันทำงานถัดไป (วันจันทร์) มีการให้คำขวัญวันเด็กทุกปีโดยนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
          งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
          รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
          งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้

[แก้ไข] กิจกรรมวันเด็ก

ภาพ:ChildrendDay_2.jpg

          กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ
          - ให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง
          - เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
          เด็ก คือ ทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า และมั่นคงอีกทั้งเป็นผู้ที่จะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เพื่อทำหน้าที่ดูแลสังคมตลอดจนเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง และอื่น ๆ ฯลฯ
          ดังนั้น ทุกสังคมจึงให้ความสำคัญแก่เด็ก และจัดให้มีวันเด็กขึ้นทุกปี เพื่อให้เด็กรู้ถึงความสำคัญของตนเอง จะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับเป็นผู้ที่มีความสำคัญของประเทศชาติ ด้วยการตั้งใจใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย รู้จักการใช้เวลา ความคิด มีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ

[แก้ไข] เพลงสำหรับเด็ก

ภาพ:ChildrendDay_1.jpg

[แก้ไข] เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี

          เพลง หน้าที่ของเด็ก หรือเรียกกันติดปากว่าเพลง เด็กเอ๋ยเด็กดี เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเตือนใจเด็กและเยาวชน เพื่อให้ระลึกถึงสิ่งที่ตนควรทำ ประพันธ์เนื้อร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน เพลงนี้มักเปิดในช่วงวันเด็กแห่งชาติ
          เนื้อเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี
          เด็กเอ๋ยเด็กดี
          ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
          เด็กเอ๋ยเด็กดี
          ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
          หนึ่ง นับถือศาสนา
          สอง รักษาธรรมเนียมมั่น
          สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
          สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
          ห้า ยึดมั่นกตัญญู
          หก เป็นผู้รู้รักการงาน
          เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ
          ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
          แปด รู้จักออมประหยัด
          เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล
          น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ
          ให้เหมาะกับกาลสมัยชาติพัฒนา
          สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์
          รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา
          เด็กสมัยชาติพัฒนา
          จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ

[แก้ไข] คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ จากนายกรัฐมนตรี

        ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นคุณค่าความสำคัญ ของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคิด สำหรับเด็ก นายกรัฐมนตรีในสมัยต่อๆ มา จึงได้ถือปฎิบัติสืบต่อมาดังต่อไปนี้
  • พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
  • พ.ศ. 2503 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
  • พ.ศ. 2504 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
  • พ.ศ. 2505 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
  • พ.ศ. 2506 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
  • พ.ศ. 2507 งดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2508 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
  • พ.ศ. 2509 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
  • พ.ศ. 2510 จอมพล ถนอม กิตติขจร - อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
  • พ.ศ. 2511 จอมพล ถนอม กิตติขจร - ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
  • พ.ศ. 2512 จอมพล ถนอม กิตติขจร - รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
  • พ.ศ. 2513 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
  • พ.ศ. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร - ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
  • พ.ศ. 2515 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
  • พ.ศ. 2516 จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
  • พ.ศ. 2517 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - สามัคคีคือพลัง
  • พ.ศ. 2518 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
  • พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช - เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
  • พ.ศ. 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
  • พ.ศ. 2521 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
  • พ.ศ. 2522 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
  • พ.ศ. 2523 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
  • พ.ศ. 2524 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
  • พ.ศ. 2525 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
  • พ.ศ. 2526 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
  • พ.ศ. 2527 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
  • พ.ศ. 2528 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
  • พ.ศ. 2529 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
  • พ.ศ. 2530 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
  • พ.ศ. 2531 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
  • พ.ศ. 2532 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
  • พ.ศ. 2533 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
  • พ.ศ. 2534 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
  • พ.ศ. 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน - สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
  • พ.ศ. 2536 นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
  • พ.ศ. 2537 นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
  • พ.ศ. 2538 นายชวน หลีกภัย - สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
  • พ.ศ. 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา - มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
  • พ.ศ. 2540 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
  • พ.ศ. 2541 นายชวน หลีกภัย - ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
  • พ.ศ. 2542 นายชวน หลีกภัย - ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
  • พ.ศ. 2543 นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
  • พ.ศ. 2544 นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
  • พ.ศ. 2545 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
  • พ.ศ. 2546 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
  • พ.ศ. 2547 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
  • พ.ศ. 2548 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
  • พ.ศ. 2549 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
  • พ.ศ. 2550 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
  • พ.ศ. 2551 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

วันกาชาดไทย

วันกาชาดไทย



กาชาด หมายถึง ตีนกาสีแดง สภาการกุศลสำหรับชาติหรือประชาชนทั่วไป

วันกาชาดเป็นวันที่คนไทยควรจะตระหนักถึงความสำคัญของสภากาชาดไทยที่มีต่อสังคมในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และเข้าร่วมกิจกรรมวันกาชาดไทยเพื่อสนับสนุนช่วยกาชาดด้านกำลังทรัพย์ กำลังความคิดในกิจการสาธารณกุศลให้ดำเนินก้าวหน้าต่อไป

ความเป็นมา

ในปี พ.ศ. 2402 เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียทำให้มีทหารได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ชาวสวิสชื่อ นายอองรี ดูนองต์ (อังรี ดูนังต์) ได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันนำทหารที่บาดเจ็บไปทำการรักษาพยาบาล โดยนายอองรี ทำการรักษาให้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าเป็นฝ่ายใดหรือชาติไหนดังนั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงมีความชื่นชมในมนุษยธรรมของนายอองรี และได้มีการจัดตั้งองค์การสาธารณกุศลในประเทศของตน ต่อจากนั้นมีการรวมตัวกันกลายเป็นสภากาชาดสากล ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโอกาสต่อมา

ในประเทศไทยได้ก่อตั้งสภากาชาดเมื่อ พ.ศ. 2436 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บในกรณีพิพาท ร.ศ.112 เมื่อเหตุการณ์สงบทางราชการให้ทำเป็นองค์การสาธารณกุศลเพื่อทำประโยชน์และบรรเทาทุกข์ภัยของประชาชนต่อไป

องค์การกาชาดได้จัดให้มีงานประจำปีทุกปี ซึ่งไม่มีกำหนดวันที่แน่นอนขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การจัดงานวันกาชาดก็เพื่อเป็นการเผยแพร่หลักการ การดำเนิน ผลงาน กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งหาเงินเพื่อมาใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลไว้รับใช้ประชาชนที่เดือดร้อนต่อไป



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ก่อตั้งองค์กรการกุศล เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2436
(ร.ศ.112) ใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดง แห่งชาติสยาม" โดยดำเนินการช่วยทหารบาดเจ็บ ป่วยไข้จากการสู้รบ ทำหน้าที่ช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์
รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยจากภัยสงคราม และภัยพิบัติต่างๆ

ปี พ.ศ. 2449 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามความตกลงเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า สภากาชาดสยาม โดยใช้เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์
ปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครองราชย์สืบต่อมา ได้ทรงสืบทอดพระราชภารกิจของสภากาชาดสยามให้เจริญก้าวหน้าเช่นอารยประเทศ
ปี พ.ศ.2454 พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้แทนจากสภากาชาดสยามไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมลงนามความตกลงเรื่องกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายกาชาด (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ) และทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม บริหารงานของสภากาชาดให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ทรงมีพระราชโองการให้ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยามในปี พ.ศ.2461
ปี พ.ศ.2463 ทรงนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิกของกาชาดสากลในปี สภากาชาดสยามเป็นสมาชิกกาชาดสากล ประเทศลำดับที่ 27
เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2464 กิจการของกาชาดสยามเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด
ปี พ.ศ.2482 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สภากาชาดสยาม เปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาดไทย ตามชื่อของประเทศ
ปัจจุบันสภากาชาดไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ดังนี้



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นอุปถัมภกสภากาชาดไทย



สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสภานายิกาสภากาชาดไทย



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันขึ้นปีใหม่

ประวัติความเป็นมา วันปีใหม่ความหมายของ วันขึ้นปีใหม่
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ



ประวัติความเป็นมา

วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน

เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

และในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทย
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย

เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ


สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ



เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่
เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495

วันรัฐธรรมนูญ

ประวัติและความเป็นมาของวันรัฐธรรมนูญ
ความหมาย

รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ


วันรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

ความเป็นมา

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ

๓. อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

๔. รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ

วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
๑. พระมหากษัตริย์

๒. สภาผู้แทนราษฎร

๓. คณะกรรมการราษฎร

๔. ศาล

ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

กระทั่งถึง วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์นั้นได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ้

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงกำหนด วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ